วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่ 4

ประเภทของหนังสือ





สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

ประเภทของหนังสือ โดย นายกำธร สถิรกุล และนางสุมน อมรวิวัฒน์

ความสนใจของมวลชนที่มีต่อหนังสือได้มีมากขึ้นไปตามความเจริญของสังคมและบ้านเมือง จนมีคำกล่าวกันว่าหนังสือเป็นเครื่องวัดความเจริญของสังคมอย่างหนึ่ง ความสนใจได้แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวาง และสนใจในรายละเอียดลึกลงไปในแต่ละแขนง ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และทำให้เกิดหนังสือประเภทต่างๆ ขึ้นมาก แต่ละประเภทมีกลุ่มบุคคลที่สนใจแตกต่างกันไป ลักษณะการใช้งาน อายุการใช้งานก็แตกต่างกันไปด้วยวิธีการผลิตหนังสือแต่ละประเภทและวัสดุที่ใช้ผลิตก็ต้องแตกต่างกันออกไป ผู้ผลิตจะต้องหาวิธีการผลิตให้เหมาะสมกับหนังสือแต่ละประเภท
การแบ่งประเภทของหนังสือมีวิธีแบ่งได้หลายอย่าง แต่เพื่อให้เห็นลักษณะการผลิตและรูปเล่มได้เด่นชัด หนังสืออาจแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ วารสาร (Periodical)และหนังสือเล่ม (book) วารสาร (Periodical) เป็นหนังสือที่มีชื่อหนังสือคงที่ จัดพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตามลำดับเรื่อยไป เช่น หนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกวันจะมีชื่อหนังสือชื่อเดียวกันตลอด ได้แก่ สยามรัฐ ไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือหนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกระยะเวลาต่างๆ มีชื่อหนังสือเหมือนกัน เช่น สตรีสาร วิทยาจารย์ หลักไท หนังสือเหล่านี้เป็นวารสาร หนังสือประเภทวารสารยังอาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้เป็นหนังสือพิมพ์(newspaper) และนิตยสาร (magazine)
หนังสือพิมพ์ (newspaper) เป็นหนังสือที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข่าวสารปัจจุบันแก่ผู้อ่าน ส่วนนิตยสารนั้นมุ่งที่จะให้ความรู้ความบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญ การที่วัตถุประสงค์ในการจัดทำแตกต่างกัน ลักษณะการใช้งานของหนังสือและลักษณะรูปร่างของหนังสือจึงย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์บนกระดาษแผ่นใหญ่เรียงซ้อนกัน พับเป็นเล่มโดยไม่เย็บเล่มและไม่มีปก ส่วนนิตยสารนั้นมักมีปกที่พิมพ์สีสันสวยงาม เย็บเป็นเล่มและเจียนเล่มเรียบร้อย ขนาดของเล่มเล็กกว่าหนังสือพิมพ์ การที่หนังสือประเภทใดจะมีรูปเล่มและขนาดอย่างใดย่อมแล้วแต่ลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้งานของหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นสำคัญ รูปเล่มและขนาดเล่มจะเป็นตัวกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเชื่อมโยงกันไปทั้งสิ้น
ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต้องการทราบข่าวอันเป็นปัจจุบันและจะสนใจในข่าว ไม่พิถีพิถันมากนักในเรื่องความประณีตในการจัดพิมพ์และการทำเล่ม โดยปกติหนังสือพิมพ์จะพิมพ์วันต่อวัน ความรวดเร็วในการผลิตและการกระจายหนังสือไปให้ถึงมือผู้อ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีระบบการรวบรวมข่าวให้ได้รวดเร็วและครอบคลุมความสนใจของผู้อ่านให้ทั่วถึง ปริมาณผู้อ่านมีมากจึงต้องจัดพิมพ์ออกเป็นจำนวนมากต่อวัน การเรียงพิมพ์จะเรียงเป็นคอลัมน์เพราะสะดวกในการนำมาจัดหน้า หน้าหนึ่งๆ ในหนังสือพิมพ์ประกอบด้วยเรื่องหลายเรื่องพร้อมรูปภาพประกอบในหน้าเดียวกัน โดยเฉพาะหน้าแรกเป็นหน้าที่ผู้อ่านจะตัดสินใจเลือกซื้อ จึงควรเลือกข่าวสำคัญๆหลายข่าวลงพิมพ์รวมไว้ในหน้าแรก โดยเลือกข่าวสำคัญที่สุดพิมพ์เป็นหัวข่าวใหญ่และข่าวรองลงไปตามลำดับ เพื่อจะได้ดึงดูดความสนใจจากคนหลายกลุ่ม การพิมพ์ต้องพิมพ์ด้วยความรวดเร็ว จึงควรมีรูปเล่มที่สามารถผลิตได้ด้วยความรวดเร็ว เมื่อพิมพ์และพับเสร็จออกจากแท่นพิมพ์ก็จัดส่งให้ถึงมือผู้อ่านได้เร็วที่สุด
ผู้อ่านสามารถอ่านได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะกำลังดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ โดยสารรถหรือเรือ แม้มีเวลาอ่านเพียงเล็กน้อยถ้ามีข่าวที่ตนสนใจก็จะอ่านก่อน หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งๆ ประกอบด้วยข่าวหลายข่าว เรื่องหลายเรื่องกระจายไปทั้งหน้า ผู้อ่านจะดูไปตามหัวข่าวทั้งหมดแล้วจึงตัดสินใจว่าสนใจเรื่องใดเป็นอันดับแรกก็จะอ่านเรื่องนั้นก่อน จบแล้วก็จะอ่านเรื่องที่สนใจรองลงไปตามลำดับ ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องอ่านเพียงแต่เรื่องที่ตนสนใจหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอยู่ในความสนใจเพียงวันเดียวหรือไม่ถึงวัน จึงมีราคาอยู่เพียงวันเดียวเมื่อพ้นวันไปแล้วก็หมดราคา จนเรียกได้ว่าสูญค่า เพราะราคาหนังสือพิมพ์นั้นจะต่ำกว่าราคาของกระดาษเปล่าที่ยังมิได้พิมพ์ ต้องรวบรวมขายกันตามน้ำหนักเป็นกิโลกรัม กระดาษที่ใช้พิมพ์จึงใช้กระดาษปรู๊ฟหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะราคาถูกไม่ต้องมีความทนทาน
นิตยสาร (magazine) สำหรับนิตยสารนั้น ผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันมากกว่าซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสารจึงมีปกที่พิมพ์ภาพสวยงาม อายุการใช้งานมีระยะเวลานานกว่าหนังสือพิมพ์ซึ่งจะมีอายุอย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาออกนิตยสารนั้นๆ นิตยสารจึงยังคงคุณค่านานกว่าหนังสือพิมพ์ แม้เมื่อพ้นเวลาใช้งานแล้วก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง
ผู้อ่านนิตยสารต้องมีความสนใจและมีเวลาว่างพอสมควรจึงจะหยิบอ่าน โดยจะพลิกดูหน้าต่างๆ ไปก่อนตลอดเล่มหรือเกือบตลอดเล่มว่านิตยสารเล่มนั้นมีเรื่องใดบ้าง จะไม่อ่านเรียงลำดับกันไปจากหน้าแรกเรื่องแรก แต่จะเลือกอ่านเรื่องที่ถูกใจก่อนเป็นเรื่องๆ ไป ปกติผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องในเล่ม
หนังสือเล่ม (book) เป็นประเภทใหญ่ของหนังสืออีกประเภทหนึ่ง อาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้หลายวิธี คือแบ่งตามลักษณะของผู้อ่าน เช่น หนังสือเด็ก หนังสือผู้ใหญ่หรือแบ่งตามเนื้อหาสาระ เช่น หนังสือสารคดีหนังสือบันเทิงคดี ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งย่อยออกไปได้อีก เช่น สารคดี อาจแบ่งเป็นแบบเรียนในระดับการศึกษาต่างๆ คู่มือครู แบบฝึกหัดตำราทางวิชาการ หนังสืออ้างอิง บันเทิงคดีก็แบ่งเป็น นวนิยาย กวีนิพนธ์ หนังสือเด็กก็อาจแยกออกเป็น หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูนนิยาย หนังสือแต่ละประเภทก็มีลักษณะรูปเล่มเฉพาะที่เหมาะกับลักษณะการใช้งานของหนังสือประเภทนั้นๆ การผลิตหนังสือแต่ละประเภทจึงมีวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมแก่การผลิตหนังสือประเภทนั้นๆ ซึ่งก็ย่อมแตกต่างกันออกไปแต่ละประเภท
การซื้อหนังสือเล่ม ผู้ซื้อจะเลือกซื้อพิถีพิถันมาก เช่น เลือกเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจเลือกผู้ประพันธ์ที่ตนชอบ พิถีพิถันในคุณภาพของการพิมพ์ การทำเล่ม และราคา เมื่อซื้อเล่มใดแล้วก็จะอ่านจากหน้าแรกเรียงลำดับจนจบเล่ม เว้นแต่ซื้อมาผิดอ่านไปแล้วไม่ชอบก็ไม่อ่านต่อหรืออาจฝืนอ่านไปจนจบเล่ม หนังสือเล่มมักไม่สูญค่าอ่านแล้วก็ยังเก็บไว้อ่านได้อีกในภายหลังหรือให้ผู้อื่นอ่านต่อได้ ในแต่ละประเภทย่อยของหนังสือเล่มต่างๆ ก็มีลักษณะเฉพาะเช่น หนังสือสำหรับเด็กก็มักมีภาพมากและใช้ตัวหนังสือตัวโต ส่วนหนังสือแบบฝึกหัดที่นักเรียนต้องเขียนคำตอบในเล่มมักเป็นหนังสือปกอ่อนใช้กระดาษไม่ต้องดีมาก พอให้เขียนตอบได้ ไม่ซึมหมึกเพราะใช้เขียนกันครั้งเดียว ราคาไม่แพงเพื่อให้นักเรียนสามารถซื้อได้
หนังสืออ้างอิง เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่งที่ผู้อ่านจะเลือกอ่านค้นคว้าเอาเฉพาะเรื่องที่ต้องการ เช่น หนังสือพจนานุกรมจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ผู้ซื้อจะค้นดูศัพท์เฉพาะคำที่ต้องการทราบความหมายโดยจะเปิดดูหน้าและตำแหน่งตรงที่มีศัพท์ที่ต้องการจะค้น แล้วอ่านดูว่ามีคำแปลว่าอย่างใด เข้าใจแล้วก็ปิดเล่ม หนังสือเล่มหนึ่งๆ ได้อ่านจริงๆ ไม่กี่บรรทัดไม่กี่หน้า หากเป็นพจนานุกรมฉบับกระเป๋าก็จะต้องผลิตให้มีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวไปได้สะดวก สามารถค้นดูศัพท์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ขนาดของเล่มหนังสือจะเป็นสิ่งกำหนดตัวพิมพ์ ความหนาของแผ่นกระดาษและชนิดของกระดาษที่จะพิมพ์ เพื่อให้หนังสือมีขนาดพอเหมาะที่จะบรรจุศัพท์ต่างๆ ลงในเล่มให้ครอบคลุมได้กว้างขวางตามที่ต้องการ และให้ได้ขนาดกว้างยาวและหนาพอที่จะพกในกระเป๋าเสื้อของผู้อ่านได้
วัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งานของหนังสือ ความสนใจและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้อ่านเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะ รูปร่าง ขนาดและคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิตหนังสือและจะมีผลถึงการเลือกใช้ตัวพิมพ์ ระบบการพิมพ์วิธีพิมพ์ วิธีทำเล่ม เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้หนังสือที่เหมาะสมแก่การใช้งาน



แผงขายหนังสือพิมพ์และวารสารริมทางเท้า


[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]




บรรณานุกรม
• นางสุมน อมรวิวัฒน์
• นายกำธร สถิรกุล

[กลับหัวข้อหลัก]


ที่มา: http://guru.sanook.com/enc_preview.php?id=2652

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น